“ค่าส่วนกลาง” คือค่าใช้จ่ายที่ผู้อยู่อาศัยในคอนโดมิเนียมและหมู่บ้านจัดสรรต้องจ่ายเป็นประจำทุกปี ซึ่งอาจชำระเป็นรายเดือน หรือรายปี ตามข้อตกลงของแต่ละโครงการ โดยค่าใช้จ่ายส่วนกลางของลูกบ้านแต่ละรายอาจไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับขนาดห้องชุดหรือเนื้อที่ของบ้าน ค่าส่วนกลางจะคำนวณเงินต่อตารางเมตร เช่น ค่าส่วนกลาง 30 บาทต่อตารางเมตร หากอยู่ห้องสตูดิโอขนาด 30 ตารางเมตร จะต้องจ่ายค่าส่วนกลาง 30×30 = 900 บาทต่อเดือน หรือ 10,800 บาทต่อปี
อัตราส่วนในการคำนวณค่าส่วนกลางของหมู่บ้านจัดสรรและคอนโดมิเนียมแต่ละแห่งมีความแตกต่างกันไป เนื่องจากแต่ละโครงการต่างก็มีบริการ สิ่งอำนวยความสะดวกและพื้นที่ส่วนกลางไม่เท่ากัน ค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาจึงมากน้อยต่างกันไป หากเป็นโครงการที่มีพื้นที่ส่วนกลางและสิ่งอำนวยความสะดวกมาก เช่น มีพื้นที่ co-working space มีบริการ wifi มีที่สำหรับอ่านหนังสือหรือทำงานได้ คลับเฮ้าส์ สระว่ายน้ำ ฟิตเนส ฯลฯ ก็มีโอกาสเรียกเก็บค่าส่วนกลางต่อตารางเมตรสูงขึ้นตามไปด้วย
หากลูกบ้านไม่ยอมจ่ายค่าส่วนกลางตามกำหนด ย่อมเกิดผลกระทบต่อหมู่บ้านและคอนโดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะจะทำให้โครงการนั้นขาดเงินทุนในการบริหารและบำรุงรักษาพื้นที่ส่วนกลางจนมีสภาพทรุดโทรม ส่งผลให้ราคาซื้อขายต่ำลง โอกาสในการขายต่อหรือการปล่อยเช่าเป็นไปได้ยาก เพราะสภาพแวดล้อมของโครงการไม่น่าอยู่อีกต่อไป
นั่นหมายความว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะส่งผลต่อ “ลูกบ้าน” ทุกคน ทั้งผู้ที่จ่ายค่าส่วนกลางและผู้ที่ไม่ยอมชำระเงิน
เมื่อมีปัญหาการเก็บค่าส่วนกลาง จึงเป็นหน้าที่นิติบุคคลแต่ละโครงการที่จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการจัดการปัญหาเหล่านี้
ตามกฎหมาย เมื่อมีการซื้อหรือรับโอนห้องชุด/บ้านมาเป็นกรรมสิทธิ์ของตนเองแล้ว ถือว่าบุคคลนั้นเป็นหนึ่งในเจ้าของร่วม มีหน้าที่จะต้องปฏิบัติตามข้อบังคับที่นิติบุคคลฯ ซึ่งขึ้นทะเบียนตามกฎหมายกับสำนักงานที่ดิน เป็นกฎกติกาเบื้องต้นที่เจ้าของร่วมต้องรับทราบ โดยไม่มีข้อยกเว้นใดๆ การปฏิเสธการชำระค่าส่วนกลางมีบทลงโทษที่เป็นไปตามข้อบังคับนิติบุคคล และมีผลทางกฎหมายที่สามารถดำเนินการได้
สำหรับโครงการอาคารชุด หากเจ้าของร่วมไม่ชำระเงินค่าส่วนกลางภายในวันและเวลาที่แจ้งภายในระยะเวลา 6 เดือน จะต้องเสียค่าปรับในอัตราไม่เกิน 12% และหากมียอดค้างชำระเกิน 6 เดือนขึ้นไป จะต้องเสียค่าปรับในอัตราไม่เกิน 20% ของยอดที่ต้องชำระพร้อมดอกเบี้ย โดยการเรียกเก็บค่าส่วนกลางจะขึ้นกับรอบการชำระของแต่ละโครงการ (ราย 3 / 6 / 12 เดือน) เจ้าของร่วมที่ค้างชำระจะเสียสิทธิ์การลงคะแนนในที่ประชุม ไม่ได้รับใบปลอดหนี้ไปใช้เป็นเอกสารประกอบการยื่นเรื่องที่กรมที่ดินเมื่อมีการซื้อ-ขาย นอกจากนั้น คณะกรรมการยังมีสิทธิ์ยื่นเรื่องฟ้องศาลได้
ที่มา : Silverman